พระมหาโมคลานะอัครสาวกเบื้องซ้าย

      ย้อนหลังไปก่อนพุทธกาลจากกรุงราชคฤห์ไปไม่ไกลนัก   มีหมู่บ้านพราหมณ์อยู่ ๒ หมู่บ้าน  หมู่บ้านหนึ่งชื่อว่าอุปติสสะคาม  หมู่บ้านนี้มีหัวหน้าชื่อว่าวังคันตะ ภรรยาชื่อสารี  มีลูกชาย ๔ คน  ลูกสาว ๓ คน  จะกล่าวเฉพาะลูกชายคนแรกที่ชื่อว่า อุปติสสะ  แต่ชาวบ้านมักเรียกตามชื่่อมารดาว่าสารีบุตร   ซึ่งแปลว่าเป็นบุตรของนางสารี  ส่วนอีกหมู่บ้านหนึ่งคือหมู่บ้านโกลิตะคาม  มีหัวหน้าชื่อว่าโกลิตะ  ภรรยาชื่อนางโมคคัลลี  มีลูกชายคนหนึ่งชื่อ  โมคคัลลานะ ทั้งสองตระกูลต่างก็มีความมั่งคั่งด้วยโภคทรัพย์และบริวารเช่นกัน  จึงคบหาสมาคมรักใคร่นับถือเป็นญาติเป็นสหายกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพชน  ดังนั้นลูกชายของทั้ง ๒ ตระกูลซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน  จึงพลอยรักใคร่สนิทสนมคบหาเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก   เข้าเรียนในสำนักอาจารย์เดียวกัน  แม้เมื่อเรียนจบจนเติบโตเป็นหนุ่มแล้วก็ยังเป็นเพื่อนกัน  มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาทั้งสองไปเที่ยวดูงานมหรสพด้วยกัน  แต่ครั้งนี้ทั้งสองไม่ได้มีความรู้สึกสนุกสนานรื่นเริงเหมือนครั้งก่อนๆ   ทั้งสองจึงพาบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักของอาจารย์สญชัยปริพาชก  ซึ่งเป็นอาจารย์ใหญ่อยู่ในเมืองราชคฤห์สำนักหนึ่ง  อาศัยที่ทั้งสองมีปัญญาเป็นเลิศ  เมื่อได้เข้าไปศึกษาจึงสามารถเรียนรู้ลัทธิของอาจารย์สญชัยได้ทั้งหมดในเวลา ไม่นานนัก  ดังนั้นเขาทั้งสองจึงถูกขอร้องจากอาจารย์สญชัยให้อยู่เป็นอาจารย์สอนศิษย์ ด้วยกัน  แต่เขามิได้ตอบตกลงเพราะเห็นว่าการอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของอาจารย์ ไร้ประโยชน์  ด้วยไม่เป็นหนทางที่จะให้บรรลุโมกขธรรมได้   ทั้งสองจึงลาออกจากสำนักเที่ยวเสาะแสวงหาผู้มีวิชาความรู้แต่ก็หาได้พบ อาจารย์ผู้สอนโมกขธรรมไม่  จึงเดินทางกลับมาที่สำนักเดิมอีกและทั้งสองได้ให้สัญญากันไว้ว่า  ถ้าใครได้บรรลุโมกขธรรมก่อนจะต้องกลับมาบอกให้แก่อีกคนหนึ่งรู้ด้วย  แล้วต่างคนก็แยกย้ายกันไปแสวงหาโมกขธรรมเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว  ทรงแสดงธรรมสั่งสอนมหาชนจนมีสาวกมากขึ้นพอที่จะเป็นกำลังในการประกาศเผยแผ่ พระศาสนาได้แล้ว  พระองค์ได้ส่งพระสาวกเหล่านั้นออกเผยแผ่ศาสนาตามบ้านเมืองต่างๆ  ส่วนพระองค์ก็เสด็จจาริกประกาศพระศาสนาเรื่อยมา  กระทั่งทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาในเมืองราชคฤห์ได้สำเร็จ  และพระองค์ได้ประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันในช่วงเวลาดังกล่าว พระอัสสชิเป็นผู้หนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์และคณะพุทธสาวกรุ่นแรก ๖๐ รูป  ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระศาสนาในที่ต่างๆ  ในเวลานั้นพระอัสสชิทราบว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันจึงเดินทางมา เข้าเฝ้า เแกือบจะถึงตัวเมืองราชคฤห์  ขณะนั้นเป็นเวลาเช้าท่านจึงเข้าไปบิณฑบาตในตัวเมือง บังเอิญ อุปติสสะปริพาชกเดินผ่านมาทางนั้น พอเห็นพระอัสสชิก็เกิดความเลื่อมใสในกิริยาท่าทางอันสำรวมระวังของท่านอุปติ สสะปรารถนาจะเข้าไปถามถึงผู้เป็นอาจารย์ของท่าน  แต่เห็นว่ายังมิใช่กาลอันสมควร  ท่านจึงเดินตามไปข้างหลัง  จนกระทั่งพระอัสสชิกลับจากบิณฑบาต  เมื่อได้โอกาสท่านจึงถามพระอัสสชิ และขอฟังธรรมจากพระอัสสชิ พระอัสสชิบอกว่าท่านยังบวชมากได้ไม่นาน  ไม่อาจแสดงธรรมได้โดยลึกซึ้ง  ขอแสดงธรรมโดยย่อมิใจความว่า  “ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ  พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้นและความดับแห่งธรรมเหล่านั้น  พระพุทธองค์มีปกติตรัสอย่างนี้ อุปติสสะเกิดดวงตาเห็นธรรมทันที  “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา  สิ่งนั้นทั้งหมดต้องมีความดับไปเป็นธรรมดา”  จากนั้นอุปติสสะได้ถามพระอัสสชิว่าเวลานี้พระพุทธเจ้าของเราประทับอยู่ ณ ที่ใด  เมื่อได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่ใดอุปติสสะก็ได้เดินทางไปหาโกลิตะ ผู้เป็นสหายบอกข่าวที่ตนเองได้พบพระอัสสชิพร้อมทั้งได้แสดงธรรมอันนั้นให้ แก่โกลิตะฟัง  เมื่อจบลงโกลิตะก็ได้บรรลุธรรมจักษุเช่นเดียวกัน   แล้วทั้งสองพร้อมทั้งบริวารจึงชวนกันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเมื่อไปถึงก็ทูลขอ อุปสมบท  ซึ่งกระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา  แล้วทรงแสดงธรรมเทศนาโปรดพวกเขาทุกคนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด  ยกเว้นอุปติสสะกับโกลิตะนับจากวันที่ได้อุปสมบทมา ๗ วัน  พระโมคคัลลานะท่านได้ไปนั่งบำเพ็ญเพียรอยู่ที่หมู่บ้านกัลลวาลมุตคาม  ในรัฐมคธ  ถูกความง่วงเหงาหาวนอนเข้าครอบงำ ไม่สามารถทำความเพียรได้  ขณะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณว่าพระโมคคัลลานะโงกง่วงอยู่  จึงทรงกระทำปาฏิหารย์ให้เห็น  ปรากฎประหนึ่งว่าพระพุทธองค์เสด็จลงมาประทับอยู่เฉพาะหน้าพระโมคคัลลานะ  ทรงแสดงอุบายสำหรับระงับความง่วงเป็นลำดับดังนี้

๑. เมื่อมีสัญญาอย่างไรก็ให้พยายามใส่ใจถึงสัญญาเหล่านั้นไว้ให้มาก  และถ้ายังไม่หาย
๒. จงพิจารณาธรรมที่ได้เรียนได้ฟังมาแล้ว  และถ้ายังไม่หาย
๓. จงท่องบ่นธรรมนั้นซึ่ง ได้เรียนได้ฟังมาแล้ว  และถ้ายังไม่หาย
๔. จงยอนหูทั้ง ๒ ข้าง และเอามือลูบตัวไปมา  และถ้ายังไม่หาย
๕. จงยืนขึ้น  แล้วเอาน้ำลูบตัว  เหลียวมองดูทิศต่างๆ  และแหงนหน้ามองดูท้องฟ้า  ถ้ายังไม่หาย
๖. จงคิดว่าเป็นเวลากลางวัน  และถ้ายังไม่หาย
๗. จงเดินจงกรม  คือเดินกลับไปกลับมา  พร้อมทั้งสำรวมอินทรีย์ทำจิตให้เป็นสมาธิ  ไม่คิดฟุ้งซ่าน  และถ้ายังไม่หาย
๘. จงนอนพักเสียก่อน  แต่ต้องนอนตะแคงข้างขวาซ้อนเท้าด้วยเท้า (ท่าสีหไสยาสน์)  ให้มีสติสัมปชัญญะ  ตั้งใจว่าจะลุกขึ้น  เมื่อตื่นแล้วก็จงลุกขึ้นทันที

ครั้งตรัสสอนอุบายสำหรับแก้ความง่วงแล้ว  ก็ทรงประทานพระโอวาท ๓  ข้อให้แก่พระโมคคัลลานะดังนี้

– โมคคัลลานะเธอจงทำไว้ในใจว่า  เราจักไม่ชูงวง  คือความถือตัวว่าเป็นนั่นเป็นนี่เข้าไปสู่สกุล  เพราะถ้าภิกษุถือตัวเข้าไปสู่สกุลด้วย  คิดว่าเขาจะต้องต้อนรับเราอย่างนั้นอย่างนี้  ถ้าคนในสกุลเขามีงานมากเขาไม่ใส่ใจต้อนรับ  เธอก็จะเกิดความฟุ้งซ่านคิดไปต่างๆนาๆ  เกิดความไม่สำรวม  จิตก็จะห่างจากสมาธิ

– โมคคัลลานะ  เธอพึงสำเหนียกไว้ว่า  เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุให้เถียงกัน  เพราะถ้าเถียงกันจะต้องพูดมาก  และผิดใจกันเป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านไม่สำรวม  และจิตก็จะห่างจากสมาธิ

– โมคคัลลานะ  ตถาคตไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยประการทั้งปวง  แต่ก็ไม่ตำหนิการคลุกคลีไปทุกอย่าง  คือเราไม่สรรเสริญการคลุกคลีกับหมู่ชนทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต  แต่เราสรรเสริญการคลุกคลีด้วยเสนาสนะ  อันสงบสงับปราศจากเสียงอื้ออึง  ควรแก่การหลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย

สุดท้ายทรงแสดงตัณหักขยธรรม  คือข้อปฏิบัติที่เมื่อภิกษุปฏิบัติแล้ว  ชื่อว่าน้อมไปในธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา  เมื่อพระโมคคัลลานะปฏิบัติตามพุทธโอวาทที่ทรงตรัสสอน  ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ในวันเดียวกันนั้น

พระมหาโมคคัลลานะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว  ท่านเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนา  ช่วยแบ่งเบาภารกิจและยังพุทธดำริต่างๆให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เพราะท่านมีฤทธิ์มีอานุภาพยิ่งกว่าสาวกรูปอื่นๆ  จนได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้ดำรงตำแหน่งพระอัครสาวกเบื้องซ้าย  นอกจากนี้พระมหาโมคคัลลานะยังเป็นผู้มีความสามารถในงานนวกรรม  คืองานก่อสร้าง  พระบรมศาสดาเคยทรงมอบหมายให้ท่านรับหน้าที่นวกัมมาธิฏฐายี   คือผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้างวิหารบุปผาราม  ที่เมืองสาวัตถี   ซึ่งนางวิสาขมหาอุบาสิกาได้บริจาคทรัพย์สร้างถวายอีกด้วย