หลวงพ่อบอกกับผู้เขียนว่าการทำงานของหลวงพ่อเกี่ยวกับพระศาสนาในยุคสมัย นี้หลวงพ่อใช้กฎหมายผี คือใช้ผีทำงาน ทั้งผีทั้งเทพต่างมาร่วมกันทำงานกับหลวงพ่ออย่างเต็มใจมีเทพอยู่หลายองค์ที่มาช่วยงานและสมควรกล่าวถึงคือมหาเทพธูปมาลีในอดีตชาติเป็นพระวอ ป็นผู้สร้างนครจำปาศักดิ์ ท่านเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาในยุคนั้นท่านได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นมา ๕ องค์ ถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ภายหลังท่านได้ย้ายเมืองมาอยู่ที่สุวรรณภูมิแถบบริเวณจังหวัดอุบลราชธานีสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่พระศรีอริยเมตไตรย์ได้เสด็จมาโปรดพระวอ พระวอเดินทางจากนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว มาที่จังหวัดอุบลราชธานีในปัจจุบัน ท่านได้งาช้างเผือกมา ๑ กิ่ง เอามาเก็บไว้ที่นครจำปาศรี หลังจากที่พระวอตาย พระศรีอารยเมตไตรย์ได้เอางาช้างเผือกมาอธิษฐานให้เป็นจระเข้เผือกตัวใหญ่และบวชวิญญาณพระวอเป็นผ้าขาวขี่จระเข้เผือกมาตามลำน้ำโดมขึ้นไปบำเพ็ญภาวนาที่ยอดลำโดม ที่วังมนวังฮี เมืองโคตรภู ต่อมาชาวบ้านเรียกหมู่บ้านนั้นว่า “แข้ด่อน” เพราะมีจระเข้เผือกโผล่ขึ้นมาให้เห็น คนอีสานเรียกจระเข้ว่าแข้ ชาวบ้านแถบนั้นเคารพพระวอเจ้าพ่อปะขาว เวลาหน้าฝนถ้าชาวบ้านอยากเห็นจระเข้เผือกเขาจะเรียกหลวงปู่ปะขาวเอ๋ยขึ้นมา ให้ลูกให้หลานได้ชมหน่อย จระเข้เผือกก็จะลอยตัวขึ้นมา ตัวยาวประมาณ ๓ เมตร มีพ่อปะขาวนั่งอยู่บนหลังจระเข้ลอยไปลอยมาให้ผู้คนได้ชม ช่วงนั้นเจ้าพ่อปะขาวโด่งดังมากผู้คนยำเกรงเคารพนับถือมาก ต่อมาเจ้าพ่อปะขาวได้บำเพ็ญบารมีเพิ่มขึ้นได้ไปบังเกิดในสวรรค์มีนามว่า “เทพธูปมาลี” เทพธูปมาลีได้สร้างบารมีจนได้รับตำแหน่งให้เป็น “มหาเทพธูปมาลี” เป็นผู้ดูแลประสานงานถวายงานแด่พระพุทธองค์ตามตำนานสุริยะธาตุ ม.ศ. นี่แหละมาในยุคนี้มหาเทพธูปมาลีก็เป็นผู้มีอำนาจได้รับอำนาจมาจากพระพุทธเจ้าทุก พระองค์ พระโพธิสัตว์และพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็นผู้มาดูแลพระพุทธศาสนาช่วยเหลืองานพระพุทธองค์ในเรื่องพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้ากำหนดเรียกว่า “พุทธวงศ์” พุทธวงศ์จะไม่ทิ้งกันเหมือนกษัตริย์ดูแลขัตติยะประเพณี แม้จะสิ้นชีพไปแล้วเขาก็ตามดูแลเคารพในความเป็นพระพุทธเจ้าในความเป็นพระมหา กษัตริย์ สมัยก่อนเมื่อพระมหากษัตริย์สิ้นพระชนม์ไปแล้วคนเราก็ยังคงเคารพนับถือสืบ ต่อกันมา ฉะนั้นพระวอ พระกา ธูปมาลี จึงเป็นผู้ดำเนินการดูแลช่วยเหลืองานพระศาสนา ขุนมาลัย ในอดีตเป็นขุนนางฝ่ายซ้ายของพระวอเป็นผู้มีบุญฤทธิ์ในการทำศึกสงครามเชี่ยวชาญในการดูฤกษ์ดูยามต่างๆ ว่าวันนี้จะออกศึกตอนไหนถึงจะชนะหรือไม่ชนะจะบอกได้ ขุนมาลัยมาช่วยงานพระศาสนาที่ภูพลานสูงอยู่หลายปี เมื่อเสร็จงานก็กลับสู่สรวงสวรรค์ โดยได้รับคำสั่งจากมหาเทพธูปมาลีให้มาช่วยงานพระศาสนากับหลวงพ่อ เวลามีปัญหาในการทำงานหลวงพ่อก็ต้องอาศัยขุนมาลัยช่วยแก้ปัญหาให้ขุนดำ, ขุนพิทักษ์ ก็มีส่วนในการทำงานด้านพระพุทธศาสนาเหมือนกัน เขาปรารถนาและได้มาบำเพ็ญเพียรประพฤติปฏิบัติธรรมที่ภูพลานสูง เป็นผู้สนองงานรับใช้กับหลวงพ่อมาตลอดนั่นคือเหล่าเทพเทวดาที่มาช่วยกัน สร้างงานหมุนงานนี้ให้ดำเนินไปได้ตลอด หลวงพ่อจึงไม่รู้สึกลำบากใจในการทำงาน เพราะมีเทพมาช่วยงานหลายด้านตามที่ได้รับมอบหมาย หลวงพ่อประกาศใช้กฎหมายผีในการทำงาน เทวดาทำงาน เขาจะมารายงานตลอดเวลา มนุษย์ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ผีสางเขาเข้าใจเขารู้เรื่องราว เราศรัทธาอยากทำงานถวายพระพุทธเจ้า ยักษ์ก็อยากได้อยากมาทำงานถวายพระพุทธองค์ เพราะวิญญาณเหล่านี้เขาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เคารพนับถือพระศาสนา พระพุทธศาสนาของเราแผ่กระจายไปทั้ง ๓ โลก คือ มนุษย์โลก นรกโลก และ เทวโลก คนที่ไม่เชื่อเมื่อตายไปแล้วเขาจะเชื่อเลยว่าศาสนาพุทธมีจริง แต่เขาก็กลับขึ้นมาบอกใครไม่ได้ต้องอยู่ชดใช้วิบากกรรมในนรกต่อไป
สมเด็จลุน เรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จลุนหลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า หลวงพ่อได้ถามประวัติสมเด็จลุนจากตัวท่านโดยตรง ข้อมูลบางอย่างอาจจะไม่ตรงกับตำราบางเล่มที่เขียนเกี่ยวกับประวัติของสมเด็จ ลุนบ้าง ตามที่หลวงพ่อสอบถามชีวประวัติจากตัวท่านจึงได้ทราบว่าท่านได้ถือกำเนิดขึ้น ในบ้านหนองไฮท่า ตำบลเวินไซ เมืองโพนทอง แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๖ ท่านเป็นบุตรของพ่อบุญเลิศ แม่กองศรี สว่างวงศ์ ท่านอยู่ในครรภ์มารดาสิบเดือนเศษ เวลาคลอดก็คลอดง่ายแม่ไม่เจ็บปวด พ่อแม่จึงตั้งชื่อให้ท่านว่า “ท้าวลุน” ท่านเป็นเด็กที่มีอุปนิสัยเป็นคนละเอียดรอบคอบ เจ้าระเบียบ พอโตขึ้นก็ได้ศึกษาเล่าเรียนและช่วยเหลืองานครอบครัวตามกำลังความสามารถ สมเด็จลุนมีนิสัยใฝ่ทางธรรมมาตั้งแต่เด็กๆ พ่อแม่เห็นว่าท้าวลุนมีอุปนิสัยไปทางธรรมจึงได้พาไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัด บ้านหนองไฮท่าเมื่อบวชเป็นสามเณรแล้วท่านมีลักษณะที่แตกต่างจากสามเณรทั่วๆไป คือท่านมีความจำเป็นเลิศทั้งๆ ที่ไม่ค่อยได้อ่านหนังสือ แต่สามารถท่องบทสวดมนต์ต่างๆได้วันหนึ่งสามเณรลุนได้ไปร่วมงานศพของพ่อท่านนาโหล่งซึ่งเป็นพระที่มีอภิญญา โด่งดังมากในสมัยนั้น สามเณรลุนได้ไปดูศพของพ่อท่านนาโหล่งเห็นคัมภัร์ก้อม (หนังสือใบลานผูกเล็กๆ) หนีบอยู่ที่รักแร้ของพ่อท่านนาโหล่ง สามเณรลุนมีความรู้สึกว่าพ่อท่านนาโหล่งยิ้มให้แล้วบอกให้ท่านหยิบคัมภีร์ไป สามเณรลุนยกมือไหว้แล้วรีบดึงเอาคัมภีร์ก้อมนั้นไป จากนั้นสามเณรลุนก็หายตัวไปโดยไม่มีใครทราบ ช่วงที่ท่านหายตัวไปนั้นท่านได้ไปศึกษาวิชาจากฤๅษีพระยาจักรสรวงจนสำเร็จ วิชา แล้วท่านก็ได้กลับมาที่วัดบ้านเวินไซอีกครั้งหนึ่ง ท่านอยู่ที่นั้นจนอายุครบอุปสมบท จึงได้อุปสมบทเมื่ออายุ ๒๐ ปีที่วัดนาคนิมิต หลวงพระบางโดยมีพ่อท่านจันที อคฺคมโน เป็นพระอุปัชฌาย์ พ่อท่านหลวง ปุณฺณวงฺโสเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พ่อก้อม โสคมโน เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้วท่านก็จำพรรษาอยู่ที่วัดเวินไซหลวงปู่สมเด็จลุนท่านเคร่งครัดต่อพระธรรมวินัยมาก มีความแตกฉานในพระธรรมวินัยเป็นอย่างดี ท่านมุ่งเน้นการปฏิบัติเป็นส่วนใหญ่นอกจากนั้นหลวงปู่สมเด็จลุนยังมีความแตกฉานในศาสตร์ต่างๆอีกด้วย ท่านได้แต่งตำราเกี่ยวกับวิชาอาคม ตำรายาสมุนไพร และตำราอื่นๆ อีกมากมาย ในเรื่องเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของหลวงปู่นั้นมีมากมายจนเกิดเป็น ตำนานเรื่องเล่าสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนี้ หลวงปู่รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระมหาญาณเถระ กตปุญฺโญ ที่เราเรียกท่านว่า “สำเร็จลุน” สำเร็จเป็นฐานันดรของพระประเทศลาว พระบ้านเราก็ชั้นสมเด็จ สำเร็จลุนได้เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ในรูปภาพเก่าๆ ที่กุฏิหลวงพ่อเราจะเห็นด้านข้างเป็นพัดสมเด็จเป็นทองคำอยู่ข้างๆตัวท่าน อีกข้างเป็นพัดที่ฝรั่งเศสสร้างถวายเป็นพัดด้ามงาช้าง หลวงพ่อบอกว่าบางคนค้านว่าสมัยก่อนทำเนียบพระประเทศลาวยังไม่มียศชั้นสมเด็จ ไม่มีพัด รูปถ่ายก็ยืนยันได้
สมเด็จลุนเป็นคนแรกที่ไปเรียนคัมภีร์พระยาธรรมจนสำเร็จและได้ใช้วิชาความ รู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากเมืองบาดาลมาช่วยงานหลวงพ่ออยู่เบื้องหลัง หลวงพ่อได้สร้างรูปเหมือนสมเด็จลุนไว้เพื่อเป็นสังฆานุสติและเป็นอนุสรณ์ เป็นที่ระลึกถึงคุณงามความดีที่หลวงปู่สมเด็จลุนได้มีเมตตาต่อพุทธศาสนา สมเด็จลุนได้มรณภาพลงเมื่อท่านอายุได้ ๑๐๘ ปี ยังสร้างความโศกเศร้าเสียใจแก่บรรดาสานุศิษย์ทั้งหลาย ดังนั้นคณะศิษยานุศิษย์จึงได้สร้างเจดีย์บรรจุอัฐิของหลวงปู่ไว้ที่วัดบ้าน เวินไซ เมืองโพนทอง แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ซึ่งผู้เขียนได้ดั้นด้นไปกราบสักการะหลวงปู่ที่วัดบ้านเวินไซ แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศลาวมาแล้ว ส่วนที่ตั้งเมรุเผาศพท่านนั้นได้เกิดต้นโพธิ์ใหญ่ขึ้น ๕ ต้น หลังจากงานเผาศพท่านเสร็จ ตอนหลังได้เปลี่ยนชื่อวัดว่า “วัดโพธิ์เวินไซ” มาจนกระทั่งทุกวันนี้